Us เงามืดของตัวตน
Us เงามืดของตัวตน อาจไม่ใช่อาการของทุกคน แต่หลายคนก็รู้สึกหวั่นๆ แปลกๆ ในบางครั้ง เวลาส่องกระจก ยิ่งถ้าเห็นเงาตัวเองในสถานที่น่ากลัวๆ หรือส่องกระจกเห็นตัวเองในความมืด ก็ยิ่งขับเน้นความกลัวในการส่องกระจกเห็นตัวเองออกมา
Us ทำให้เราจดจำได้ถึงอาการความกลัวแบบนี้ที่มีต่อตัวเราเอง ถึงแม้ในทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของลากองจะบอกว่า ภาวะกระจก (Mirror Stage) ทำให้แยกตัวเราสมัยทารกออกจากแม่ได้ เพราะตัวเราเคยคิดว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของแม่ แต่เมื่อได้ส่องกระจก มันเป็นการสะท้อนว่าเราแตกต่างจากใครทั้งหมดและมีตัวตนที่เป็นเอกลักษณ์ นั่นคือการขั้นตอนในการรับรู้ตัวตนของเรา
แต่ขณะเดียวกันในสังคมเสรีนิยมที่เชิดชูความปัจเจก การส่องกระจก หรือการสะท้อนตัวเอง อาจรู้สึกถึงการหลงใหลตัวเองได้ โดยเฉพาะในครอบครัวชนชั้นกลาง เหมือนกับว่าการมีอยู่ของตัวเราในสังคมนั่นดีงาม สวยหรู บวกกับการสร้างสังคมในแบบความฝันอเมริกัน กระจกสะท้อนในตัวเราในครอบครัวที่พอจะมีสภาพชีวิตที่อยู่ดีกินดี จึงเต็มไปด้วยความหลงใหล ความภาคภูมิใจในตัวเอง ที่สามารถทำให้ตัวเองขึ้นมาอยู่บนจุดนี้ได้
ภาพยนตร์ Us ได้สะท้อนให้เห็นถึงสิ่งนั้น ความสวยงามในช่วงเริ่มต้นของครอบครัวคนดำในอเมริกา เราจะเห็นว่าในหนังเรื่องนี้ คนดำ ไม่ได้ต้องดิ้นรนเพื่อต่อสู้กับการเหยียดผิวใดๆ แบบที่หนังของผู้กำกับคนเดียวกันอย่าง Get Out เคยทำไว้ เหมือนว่านี่คือครอบครัวคนดำที่ไม่มีเส้นแบ่งใดๆมาขวางกั้น และมีความเป็นอเมริกันชนเต็มเปี่ยม
ดังนั้นครอบครัวคนดำในหนังเรื่องนี้จึงเป็นตัวแทนของคนอเมริกันได้ แต่อาจเพราะนี่คือครอบครัวคนดำที่สลัดภาพของประวัติศาสตร์การกดขี่ทิ้งไปได้แล้ว การเป็นคนชนชั้นกลางค่อนไปทางบนจึงเป็นอภิสิทธิ์ชนรูปแบบหนึ่ง และคุณจะถูกยอมรับ เพราะสามารถมีบ้านพักตากอากาศติดชายหาดอันสวยหรูได้
แต่ภาพยนตร์เรื่อง Us เหมือนกำลังดึงฝันร้ายในตัวตนอันสวยหรูที่เราเป็นอยู่ ให้เผชิญกับตัวตนอีกด้านหนึ่งที่ลืมไปแล้ว และนั่นคือภาพความกลัวเงาตัวเองที่เคยอาจหลอกหลอนตัวเราไม่ว่าครั้งใดครั้งหนึ่ง
การดีไซน์โลกของ Us ขึ้นมาแบบนี้ ซึ่งจุดประสงค์ทั้งสะท้อนภาวะความกลัวตัวเราเองที่เราพยายามกลบฝังมันไว้ และการวิพากษ์สังคมอย่างเผ็ดร้อน มันเป็นสองอย่างที่หล่อรวมได้อย่างพิสดาร แต่มันทำให้จุดประสงค์สองอย่างขับเน้นไปด้วยกันอย่างดี
อเดเลด วิลสัน คือสาวน้อยที่ถูกหลอกหลอนจากภาพของ เงามืด ของตัวเองที่มีอยู่จริงในโลกแห่งนี้ แต่เมื่อเธอโตขึ้น เธอกลายเป็นแม่ในครอบครัวที่อบอุ่น และลืมเลือนเงามืดตัวเองที่เคยหลอกหลอนไปซะแล้ว แต่เมื่อเธอได้กลับมาบ้านพักตากอากาศอีกครั้ง เธอและครอบครัวกลับถูกจับและทรมานโดยครอบครัวที่เป็นเงามืดของพวกเธอทั้งหมด นี่อาจกล่าวได้ว่า ครอบครัวเงามืดนั้น เป็นเหมือนปีศาจร้ายของตัวตนพวกเขาที่หลุดออกมาเผชิญหน้า หากตัวตนเราเป็นคู่ (Daulity) จริง สองด้านของตัวตนเรา ถูกคัดทิ้งออกไปหนึ่ง ไปอยู่ในอุโมงค์ทิ้งร้าง ที่เป็นด้านมืดของจิตใจเรา การออกมาอาละวาดของด้านมืด หรือเงามืดในใจนั้น จึงเป็นได้ทั้งการเรียกร้องของตัวตนเรา ที่ถูกกลบฝังและทำให้กลายเป็นอื่นไป
ขณะเดียวกัน การสร้างโลกที่ใช้ความเป็นคู่ของตัวตนนั้นไปไกลถึงขั้นวิพากษ์สังคมของอเมริกา นี่อาจเป็นการเชื่อมโยงชั้นดีที่ทำให้เห็นว่า ‘ความเป็นอื่น’ ‘คนนอก’ ที่เราทิ้งไว้นั่นคือชีวิตของเราอีกด้านหนึ่ง เราทิ้งเงามืดของเราไว้ และใช้ชีวิตไปอย่างปกติสุข แต่การใช้ชีวิตของเรานั้นก็ไปกระทบกับตัวตนอีกด้านของเราไป หรืออาจพูดได้ว่า ถึงแม้จะตัวเราจะมีตัวตนสองด้าน แต่ตัวตนสองด้านนั้น มีด้านหนึ่งที่ไม่ได้รับความเท่าเทียมเท่ากับอีกด้านหนึ่ง นี่เป็นการวิพากษ์ตัวตนเราแต่ก็ผูกโยงเข้ากับสังคมได้ในคราวเดียว
การโยงเข้ากับการเป็นตัวตนเรา กับการที่เราต้องลุ้นเอาใจช่วยครอบครัว ให้เอาชนะเงามืดของตัวตนเรา จึงเป็นการหลอกล่อให้เราตั้งคำถาม ในตอนจบว่าสุดท้ายแล้วความเป็นธรรมอยู่ตรงไหน ภาพการอุปมาของการเป็นตัวตนเราสองด้าน จึงเทียบได้กับการที่คนอเมริกันชนชั้นกลางส่วนบน ไม่แคร์กับคนชั้นล่างที่มีอยู่ในสังคม คนจน คนต่างถิ่นและคนดำชนชั้นแรงงาน แถมยังถูกขับเน้นเป็นคนนอก ปิดกั้นความเป็นอยู่
และยิ่งหนังพลิกพล็อตให้เห็นว่าแท้จริงแล้วคนที่เป็น อเดเลด วิลสัน ที่เราลุ้นเอาใจช่วยเธออยู่ตลอดเรื่อง นั้นเธอเป็นเงามืด ที่ถูกขัดเกลาให้กลายเป็นคนปกติ เหมือนที่เราเห็นอยู่ตลอดเรื่อง ซึ่งสิ่งนี้ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า ความไม่เท่าเทียมนั้นได้ปิดกั้นการเป็นคนได้อย่างเต็มรูปแบบที่รัฐควรจะให้ได้ เพราะการที่ตัวตนเงามืดได้กลายเป็นคนปกติในสังคมได้ นั่นก็เท่ากับคนใต้อุโมงค์ทั้งหมด ถ้าได้รับโอกาสเท่าเทียมกัน พวกเขาก็สามารถเป็นแบบเงามืดของอเดเลดที่ถูกขัดเกลาได้เหมือนกัน นั่นคือพวกเขาก็จะกลายเป็นคนปกติ ไม่ได้มีด้านโหดร้าย ป่าเถื่อน เหมือนคนป่า อย่างคนใต้อุโมงค์
แต่ อเดเลด วิลสัน ตัวจริง ที่ถูกสับเปลี่ยนลงไปอยู่ในอุโมงค์ใต้ดิน เธอกลับกลายเป็นคนไม่ปกติ พูดไม่ได้ และน่ากลัว นี่คือภาพสะท้อนของสภาพแวดล้อมในสังคม ยิ่งถ้าเราทำให้สังคมส่วนนั้นเป็นส่วนมืด และไม่ได้รับการปฎิบัติเท่าเทียม หรือจัดสรรทรัพยากรอย่างดี เทียบเท่ากับคนข้างบน และปิดกั้นการเข้าถึงกัน คนที่อยู่ในอุโมงค์ที่กลายเป็นเพียงหุ่นเชิดของคนข้างบน หรือทาสทางจิตวิญญาณ พวกเขาเหล่านั้นก็ไม่ได้รับการขัดเกลาทางวัฒนธรรม การศึกษา และถูกปิดกั้นเอาไว้เหมือนสัตว์ในกรง การเผชิญกับการต้องถูกบังคับจากการเป็นทาส สะท้อนให้เห็นสภาพชีวิตที่ซังกะตาย ด้านบนกินอาหารเลิศหรู ด้านล่างกินกระต่าย ด้านบนดูมีความสุขกับชีวิตในการทำกิจกรรม ด้านล่างกระทำโดยความเศร้าหมอง
นี่คือการสะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคมได้อย่างแปลกประหลาด ได้เห็นกิจกรรมที่เทียบเท่ากัน การออกแรงที่เท่ากัน แต่ประสิทธิภาพ ผลิตผลต่างกัน และสภาพการเป็นอยู่ที่ต่างกัน มันเป็นภาพของคนด้านบน หรือพูดแบบแปลสารแล้ว คือการชนชั้นกลางมีอันจะกิน ได้กระทำใดๆ ในเชิงเศรษฐกิจสังคม มันก็ได้สร้างผลกระทบให้กับคนชนชั้นล่าง โดยที่พวกเขาไม่สามารถหรือมีโอกาสที่จะขยับขึ้นไปสู่คนด้านบนได้
อีกทั้งการสลับเปลี่ยนตัวตนด้านมืดของอเดเลด เมื่อเธอได้เรียนรู้โลกด้านบนแล้ว และถูกขัดเกลาทางสังคมอย่างดี เธอก็กลบฝังความชั่วร้ายของโลกใต้อุโมงค์ทิ้งไป ทำเสมือนว่ามันไม่เคยมีอยู่จริง นี่สะท้อนภาพของคนชนชั้นล่างปีนป่ายทางชนชั้นได้สำเร็จ แต่ก็ละเลย ลืมเลือน ชนชั้นของตัวเองที่เคยเป็นอยู่ และไม่พยายามต่อสู้เพื่อให้คนด้านล่างได้ขึ้นมาข้างบน
ต่างกับอเดเลด ตัวจริง ที่เกิดมาจากโลกด้านบน แต่ถูกสภาพสังคมด้านล่างขัดเกลาให้กลายเป็นแบบเดียวกับคนในสังคม (สังคมทาสของคนด้านบน) แต่เธอก็พยามจะต่อสู้เพื่อยกระดับฐานะของคนข้างล่างให้ขึ้นไป นี่คือวิธีการปฎิวัติสังคม เพื่อเรียกร้องให้เห็นว่า ความดำมืดของตัวตนเรากำลังทวงสิทธิ์การเป็นตัวตน หรือเรียกร้องสิทธิ์ในการเป็นพลเมืองของสหรัฐอเมริกาคืนมา
ในที่สุดแล้ว ภาพยนตร์เรื่อง Us จึงนำด้วยการทำให้เห็นโลกที่มีตัวตนสองด้าน ด้านหนึ่งเสมือนพระเจ้า อีกด้านเป็นความชั่วร้าย และเป็นทาส จนกระทั่งเมื่อโลกสองโลกได้พร่าเลือนพรมแดน กันและกัน อเดเลด ด้านเงามืดได้ขึ้นมาอยู่ข้างบน และอเดเลดปกติได้ถูกขับลงไปข้างล่าง การแลกเปลี่ยนกันนั้นได้ทำให้สองวัฒนธรรมที่แตกต่างกันสุดขั้วได้ใกล้กันมากขึ้น จึงเกิดการปฎิวัติครั้งยิ่งใหญ่ ด้วยการใช้สัญลักษณ์ของการร่วมมือร่วมใจทางสังคมอย่าง Hands Across America ที่เคยเกิดขึ้นครั้งหนึ่งแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ แถมยังถูกวิพากษ์ว่าเป็นเหตุการณ์กลวงเปล่า ที่ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาสังคมได้อย่างแท้จริง ผู้กำกับจอร์แดน พีล จึงนำเสนอภาพ Hands Across ครั้งใหม่ ที่เป็นเหมือนการปฎิวัติครั้งยิ่งใหญ่ของคนชนชั้นล่างใต้อุโมงค์ที่เรียกร้องในสิทธิพลเมืองที่พวกเขาควรได้รับมากกว่านี้
ขณะเดียวกันการทำให้เห็นการเรียกร้องตัวตนด้านมืดก็เหมือนการกลัวบางสิ่งภายในตัวเราเอง ที่กำลังขึ้นมาเรียกร้องความเท่าเทียมจากการที่เราหลงลืม ละเลย ด้อนแคร์ จนมันถูกขับเน้นเป็นสิ่งชั่วร้าย กลบฝังอยู่ภายในใจเรา เป็นปีศาจร้ายในตัวเราที่รอวันกลับมาจ้องเล่นงานเราคืนเข้าสักวัน
ดูวิเคราะห์หนังเรื่องอื่นได้ที่ spoilmovieclub
ดูหนังออนไลน์เพิ่มเติมได้ที่ หนังhd
ติดตามข้อมูข่าวสารอื่นๆเพิ่มเติมได้ที่ superufabet88