The Shape Of Water : บทพิศวาทของผู้แปลกแยก

            ถ้าเคยมองว่าหนังที่แปะรางวัลช่อมะกอกมาเยอะ ๆ หรือเข้าชิงออสการ์หลาย ๆ ตัว แล้วจะต้องเป็นหนังที่เคร่งเครียด ต้องตีความดูยาก มาถึงตรงนี้ก็ขอบอกว่าให้เปลี่ยนทัศนคติเสียนะครับ มันไม่เสมอไป โดยเฉพาะกับ The Shape Of  Water เป็นหนังที่ดูง่าย ได้ทั้งสาระและบันเทิง ไม่มีนัยยะลึกซึ้งมากมาย เป็นหนังสายรางวัลที่เนื้อหามาทางเอาใจตลาดพอสมควร นางเอกเป็นแม่พระ ตัวร้ายก็มาแบบเลวสุด ตัวมนุษย์น้ำก็น่ารักน่าสงสาร มีฉากให้ลุ้นตื่นเต้นเนือง ๆ น่าติดตาม

                 กิลเลอร์โม เดลโตโร ยังคงเนื้อหาหนังที่พัวพันกับสัตว์ประหลาดเช่นเคย สังเกตได้ว่าหนังของกิลเลอร์โม ถ้าตัวเอกของเรื่องไม่เป็นตัวประหลาดอย่าง Blade , Mimic , Hellboy ก็มักจะต้องมีตัวประหลาดอยู่ในเรื่องเช่น Pacific Rim , Pan’s Labyrinth และมาถึง The Shape Of Water ที่เจ้ามนุษย์น้ำก็มีความละม้ายกับตัว “เอบ ซาเปียน” จาก Hellboy อยู่พอสมควร หนังไม่เล่าถึงที่ไปที่มาของมัน เพียงแต่เอ่ยถึงว่าถูกจับมาจากแม่น้ำในอเมริกาใต้ ซึ่งที่นั่นมันก็ถูกพวกคนป่าถือบูชาดังเช่นเทพเจ้า มนุษย์น้ำถูกจับมากักขังไว้ในสถานีทดลองทางวิทยาศาสตร์ อยู่ใต้การควบคุมดูแลของริชาร์ด หัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัยที่มีความจงเกลียดจงชังมันป็นทุนเดิม และยิ่งโดนกัดนิ้วขาดไป 2 นิ้ว ทำให้ริชาร์ดเพิ่มอาฆาตแค้น จึงยุยงให้ผู้บังคับบัญชาจับมันชำแหละเพื่อการชันสูตรทางวิทยาศาสตร์เสีย การข่มเหงรังแกจากริชาร์ด อยู่ในสายตาของเอไลซา สาวใบ้พนักงานทำความสะอาด ที่พยายามผูกมิตรกับมนุษย์น้ำจนสามารถสื่อสารกันได้ กลายเป็นความผูกพัน และริเริ่มกระทำการอุกอาจด้วยการขโมยตัวมนุษย์น้ำออกจากสถานีทดลองเพื่อไปปล่อยลงทะเล

             โทนของThe Shape Of Water ออกมาค่อนข้างหลากหลายอารมณ์ แต่หลักของเรื่องก็คือความรักของสองสายพันธุ์ที่บทสามารถเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ ให้เข้าใจความรู้สึกของสองตัวละครหลักได้ เรื่องราวของทั้งคู่ก็ดำเนินไปบนฉากหลังของช่วงสงครามเย็นที่มีการแทรกแซงของสายลับรัสเซียและความตื่นเต้นในฉากขโมยตัวมนุษย์น้ำในครึ่งแรก ส่วนในครึ่งหลังก็เป็นการตามล่าตัวมนุษย์น้ำคืนของริชาร์ด สตริคแลนด์ บทของไมเคิล แชนนอน ที่มาในภาพลักษณ์ของตัวร้ายแบบร้ายมาตั้งแต่เกิด เป็นบทที่กิลเลอร์โมเขียนโดยมีภาพของไมเคิล แชนนอนอยู่ในหัวมาโดยตลอด เช่นเดียวกับบทเอไลซ่า ที่กิลเลอร์โม ก็จำเพาะเจาะจงให้เป็น แซลลี่ ฮอว์กกิ้น ตั้งแต่ตอนเขียนบท โดยวาดภาพลักษณ์ให้เอไลซ่า เป็นผู้หญิงแนวบ้าน ๆ แต่มีเสน่ห์ในตัวเอง ซึ่งแซลลี่ ก็แสดงออกอย่างเห็นได้ชัดว่าทุ่มเทให้กับบทเอไลซ่าแบบเต็มร้อย และไม่หวงตัว

       ด้วยโจทย์หลักที่ว่าด้วยความรักอันบริสุทธิ์ของคนและมนุษย์น้ำ หนังเลือกจะเล่าให้ออกมาสดใสไร้พิษภัยแบบ Beauty And The Beast ตามสไตล์ดิสนีย์ก็ได้ แต่กิลเลอร์โมก็เลือกจะเล่าในทิศทางที่ดิบและดาร์คเจาะเฉพาะกลุ่มคนดูผู้ใหญ่ หนังเลยออกมาเป็นเรต R เพราะมีทั้งฉากเปลือย (บ่อย) คำหยาบทั้งภาษาพูดและภาษามือ และฉากเซ็กส์ทั้งคนฟีเจอริ่งกันและฉากช่วยตัวเอง และฉากโหดที่มีเลือดให้เห็นมากพอดู ซึ่งการได้เห็นฉากเหล่านี้ก็รู้สึกผิดคาด ไม่นึกว่าจะเห็นอะไรมากขนาดนี้

            บทภาพยนตร์ฝีมือของกิลเลอร์โม เดลโตโร เองที่เล่าเรื่องราวแบบง่าย ๆ ตรงไปตรงมา ดูผิดจากรูปแบบของหนังมากรางวัลที่มักจะมาแนวอึน ๆ เนิบ ๆ แทรกสัญญะมากมายให้ตีความ แต่กับ The Shape Of Water กิลเลอร์โม เลือกสร้างตัวละครทุกตัวให้เป็นสิ่งมีชีวิตที่ล้วนมีความผิดแผกในตัวเอง เอไลซา เอสโปซิโต หญิงสาวที่พูดไม่ได้ แต่หูได้ยินปกติ มีชีวิตในสังคมเล็ก ๆ ที่มีเพื่อนแค่ 2 คน , ไจลส์ คุณลุงศิลปินที่เก็บตัวทำงานเขียนรูปอยู่ในห้องไปวัน ๆ แต่เก็บงำความเป็นโฮโมไว้ในใจลึก ๆ และท้ายที่สุดก็คือมนุษย์น้ำ ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่โดนจับมากักขังทรมานเพียงเพราะเป็นตัวประหลาดในสายตามนุษย์ , ทั้ง 3 ต่างมีความเหงาอยู่ในใจด้วยกัน โดยเฉพาะเอไลซากับมนุษย์น้ำ ที่ใช้ใจสื่อสารถึงกันและสัมผัสความรู้สึกกันได้ในช่วงระยะสั้น ๆ และพาให้คนดูเข้าถึงจิตใจของทั้งคู่ได้เช่นกัน

คะแนน 8/10

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here