House of Gucci โศกนาฏกรรมแห่งโลกแฟชั่น
House of Gucci เล่าเรื่องราวแบบไม่ซับซ้อน โดยวางจุดเริ่มต้นของเรื่องอยู่ที่ปี 1978 ช่วงที่เมาริซิโอ กุชชี (อดัม ไดร์เวอร์ – Adam Driver) หนุ่มนักเรียนกฏหมายทายาทกุชชี ตกหลุมรักกับ ปาทริเซีย เรจจิอานี (เลดี้ กาก้า – Lady Gaga) ลูกสาวเจ้าของบริษัทอู่รถบรรทุก แม้จะถูกคัดค้านจากพ่อ โรดอลโฟ กุชชี (เจเรมี ไอเอินส์ – Jeremy Irons) ผู้ถือหุ้นของกุชชี 50% (และเขาจะได้รับต่อ) แต่เมาริซิโอก็ดื้อรั้นหัวชนฝา ยอมเดินออกจากครอบครัวกุชชี่ไปทำงานเป็นพนักงานอู่รถบรรทุกของพ่อปาทริเซียและตัดสินใจขอเธอแต่งงาน จากนั้นไม่นานเมาริซิโอก็ได้รับการทาบทามจากลุงอัลโด (อัล ปาชิโน – Al Pacino) ลูกชายคนโตของกุชชิโอ กุชชี ผู้ก่อตั้งแบรนด์ และเป็นประธานบริษัทในตอนนั้น ให้มาช่วยงานด้านการปรับปรุงภาพลักษณ์ของกุชชีที่เริ่มถูกมองว่าเป็นแบรนด์แฟชั่นที่ล้าสมัย แน่นอนว่าคนที่ไม่ยอมปล่อยให้โอกาสทองนี้หลุดมือไปและคอยหนุนหลังเมาริซิโออยู่ตลอดเวลาคือปาทริเซีย
ครึ่งแรกปูโทนเหมือนหนังรักโรแมนติก เล่าความสัมพันธ์ของเมาริซิโอและปาทริเซียที่ค่อย ๆ ก่อร่างสร้างตัว ฝ่าฟันอุปสรรคจนกลายเป็นครอบครัวที่มั่งคั่ง โยงเข้าสู่ครึ่งหลังของหนังที่มีเงาของเมฆดำค่อย ๆ เคลื่อนตัวเข้ามาปกคลุม เมาริซิโอถูกปาทริเซียปั่นหัวและบงการมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงขั้นที่สามารถทรยศหักหลังครอบครัวตัวเอง เพราะความโลภจากอำนาจและเงินตรา กระทั่งความรักแปรเปลี่ยนเป็นความไม่ไว้ใจ นำไปสู่การหย่าร้าง ความหึงหวง ความโกรธแค้น และเป็นชนวนให้เกิดโศกนาฏกรรมในท้ายที่สุด
แม้หน้าหนังและชื่อหนังจะเกี่ยวกับแฟชั่น แต่‘House of Gucci’ไม่ใช่หนังแฟชั่นจ๋าเหมือน ‘Coco Before Chanel’ หรือซีรีส์ ‘Halston’ แต่นี่คือหนังดราม่าที่ดัดแปลงจากชีวิตจริงของคนทำแฟชั่นเท่านั้น ดังนั้นใครที่ไม่ใช่สายแฟก็ดูรู้เรื่อง จะมีแค่รายละเอียดบางอย่างเช่นการพูดถึง ทอม ฟอร์ด ที่ก้าวมาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ให้กุชชี หรือการมีบทเล็ก ๆ ของแอนนา วินทัวร์ และคาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ ก็เป็นตัวชูรสชั้นดีหากคุณรู้เรื่องแฟชั่น
จุดแข็งและความน่าดึงดูดใจของหนังนับตั้งแต่ประกาศสร้างคือทีมนักแสดงฝีมือระดับออสการ์ แต่พอมารวมตัวกันแล้ว กลับกลายเป็นทั้งส่วนที่ยอดเยี่ยมและส่วนที่แปลกแยกในเวลาเดียวกัน ถ้าพูดแบบติดตลกก็คือนักแสดงแต่ละคน “เล่นเหมือนไม่ได้อ่านไลน์กลุ่ม” แน่นอนว่าคนที่โดดเด่นที่สุดหนีไม่พ้น เลดี้ กาก้า ที่เฉิดฉายทุกครั้งที่ปรากฏตัวด้วยการเล่นใหญ่ประหนึ่งละครช่องเจ็ด (ถ้าใครได้ชมแล้วจะรู้ว่าผมพูดไม่เกินจริง ถลึงตา เดินชนไหล่ มาหมด) เช่นเดียวกับปาชิโนและจาเรด เลโท (Jared Leto) ที่เล่นใหญ่ไม่แพ้กัน โดยเฉพาะเลโทที่นอกจากจะแปลงโฉมเป็นเปาโล กุชชี จนจำไม่ได้แล้ว ยังเป็นตัวละครที่ทำให้คนดูรู้สึกเย้ยหยันและเห็นใจได้ในเวลาเดียวกัน ขณะที่ไดรเวอร์, ไอเอินส์ และแจ็ก ฮัสตัน เล่นน้อย ๆ แบบหนังดราม่าหวังกล่อง อีกคนที่โดดเด่นไม่แพ้กันคือ ซัลมา ฮาเย็ก ที่ช่วยสร้างสีสันได้ดีในบทพีนาหมอดูจอมปลอมที่มีส่วนร่วมในคดีฆาตกรรม
ด้วยความที่‘House of Gucci’เป็นหนังฮอลลีวูดและแสดงโดยดาราอเมริกัน แต่เล่าเรื่องราวของตัวละครชาวอิตาเลียนทั้งเรื่อง เลยใช้วิธีพูดภาษาอังกฤษสำเนียงอิตาเลียน ซึ่งบางคนก็เป๋ไปจนแทบจะเป็นสำเนียงรัสเซีย ส่วนนี้อาจสร้างความรำคาญหูให้กับคุณได้ตลอดทั้งเรื่อง อีกจุดหนึ่งที่หนังยังทำได้ไม่ดีนักคือทิศทางกำกับของริดลีย์ สก็อตต์ ที่ดูเหมือนไปไม่สุดสักทาง ทั้งดราม่า อาชญากรรม แฟชั่น แถมยังแทรกตลกร้ายอยู่กลาย ๆ (ปัญหาเดียวกับการแสดง) เมื่อถึงจุดไคลแม็กซ์ในช่วงท้ายเลยขึ้นไปไม่สุด เพราะมีแรงส่งไม่มากพอ
โชคดีที่หนังถูกพยุงไว้ด้วยพลังของนักแสดงที่ถึงแม้จะดูคนละทิศคนละทางอย่างที่กล่าวไป แต่ก็ถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญและสร้างความบันเทิงได้ตลอดเวลาสองชั่วโมงครึ่ง (หากตัดทอนรายละเอียดที่ไม่สำคัญออกไปให้หนังสั้นกว่านี้ก็จะดีมาก) บวกกับการออกแบบเครื่องแต่งกายที่สร้างความเพลิดเพลินตา และเพลงประกอบที่ขุดเพลงฮิตในยุค 80s มาให้ได้ยินกันเป็นระยะตั้งแต่ต้นจนจบ โดยเฉพาะการเลือกเพลง “Baby Can I Hold You” มาสเตอร์พีซของเทรซี แชปแมน (Tracy Chapman) มาเป็นเพลงปิดท้าย โดยเลือกเวอร์ชันที่แชปแมนร้องสดร่วมกับลูชาโน ปาวารอตติ (Luciano Pavarotti) ศิลปินโอเปราเสียงเทเนอร์ชาวอิตาเลียน ซึ่งทุกถ้อยคำในเนื้อเพลงถ่ายทอดถึงความรู้สึกกับความรักที่หวานขมในตอนจบได้เป็นอย่างดี
อ่านรีวิวหนังอื่นๆได้ที่ >>> https://spoilmovieclub.com/
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ :: ufabetmango.com