Charlie’s Angels – นางฟ้าสวยฟาด…เคล้าเสียงฮา…ฮอร์โมนหญิงพุ่งพล่าน
แม้ก่อนหน้าจะได้ดูหนังจริง..จะเจอคำวิจารณ์แง่ลบที่สับหนังเละไม่มีชิ้นดี แต่ด้วยผมค่อนข้างเชื่อมือของเอลิซาเบธ แบงค์ จากงานกำกับ Pitch Perfect 2 (2015) ที่ทำหนังภาคต่อออกมาได้กล่มกล่อมเพียบพร้อมทั้งความสนุกและคุมโพรดักชันใหญ่โตได้อยู่มือ และมาคราวนี้การท้าทายตัวเองของเธอกับงานหนังแอ็กชันที่เคยถูกมองว่าทำมาขายผู้ชายโดยเฉพาะอย่าง Charlie’s Angels ตั้งแต่ฉบับซีรีส์ในปี 1976 หรือฉบับหนังสุดเซ็กซีของผู้กำกับ แม็กจี ในปี 2000 ทำให้ เอลิซาเบธ แบงค์ เหมาะมากที่จะมาถ่ายทอดนางฟ้าชาร์ลีในยุคที่กระแส เฟมินิสต์ หรือ สตรีนิยม เบ่งบานไปพร้อมกับการเรียกร้องความเท่าเทียมในเรื่องชาติพันธุ์และเพศสภาพอย่างยุคปัจจุบัน ทำให้บทภาพยนตร์ของ แบงค์ ที่เขียนร่วมกับ อีวาน สพีลิโอโทพูลอส และ เดวิด ออเบิร์น เลยมุ่งเน้นสร้างคาแรกเตอร์ชอง เอเลนา ซาบีนา และ เจน ให้กลายเป็นสาวแกร่งยุคใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องอ่อนหวานเอาใจผู้ชาย
หรือจะยอมอ่อยก็ต่อเมื่อพวกเธอต้องการอะไรบางอย่างเท่านั้น โดยตัวคาแรกเตอร์ที่ดีไซน์มายังเล่นกับยาขมสำหรับผู้ชาย ตั้งแต่การให้ เจน Charlie’s Angels เป็นสาวแกร่งแบบเริ่ดเชิดทำอะไรคนเดียวไม่พึ่งพาใครแต่แอบซ่อนเหตุผลถึงเหตุการณ์สะเทือนใจในอดีตที่ทำให้เธอต้องออกจาก MI6 หรือจะเป็น ซาบินา สาวผมสั้นเท่ๆที่แสดงออกค่อนข้างชัดเจนตามนักแสดงอย่างคริสเตน สจ๊วร์ต ว่าเธอเป็นกลุ่ม LGBT ไม่ได้ชอบผู้ชาย และมีอดีตเป็นสาวบ้านรวยที่ต้องการหนีปัญหาด้วยการก่ออาชญากรรมจนเปลี่ยนตัวเองเมื่อได้เข้าร่วมเป็นนางฟ้าชาร์ลี ส่วน เอเลนา ก็มาในมาดสาวโก๊ะ เด็กเนิร์ด ฉลาดเป็นกรด ทำงานก้าวหน้ากว่าผู้ชาย จะเห็นว่านางฟ้าชาร์ลียุคนี้พร้อมประกาศตัวเองว่าเธอไม่จำเป็นต้องพึ่งผู้ชายอีกต่อไป นั่นทำให้บุคลิกของพวกเธอเป็นตัวแทนผู้หญิงในแบบที่ผู้หญิงเท่านั้นจะเข้าใจจริง ๆ และหนังก็เดินเรื่องแบบเอาใจคนดูสาว ๆ เต็มที่ ทั้งฉากวางแผนการรบที่เหมือนการเจ๊าะแจ๊ะของผู้หญิงที่พร้อมจะเปลี่ยนเรื่องได้ตลอดเวลา หรือกระทั่งฉากแอ็กชันที่ดีไซน์ไม่ให้ดูสยดสยองหรือรุนแรงเกินไป รวมถึงการใส่ตัวละครหนุ่มหล่ออย่าง แลงสตัน ที่รับบทโดย โนอาห์ เซ็นตินีโอ จากหนัง To All The Boys I’ve Loved Before ทาง Netflix เข้ามาเป็นอาหารตาให้สาว ๆ เรียกได้ว่าหากใครหวังเข้าไปดูแอ็กชันสะใจ ๆ พร้อมสาว ๆ สวย ๆ ในชุดสุดเซ็กซีให้ได้พอกระชุ่มกระชวย ก็อาจแพ้ฮอร์โมนหญิงของหนังจนอาจไม่ถูกโรคได้เลยแหละ
Charlie’s Angels
กล่าวถึงฮอร์โมนเพศหญิงของหนัง แม้เราจะไม่มีหลักฐานแน่ชัดแต่เหมือน เอลิซาเบธ แบงค์ ได้ควบคุมทิศทางการนำเสนอของหนังแบบค่อนข้างเข้มงวด ตั้งแต่การถ่ายภาพของ บิล โพป ที่น่าจะเป็นครั้งแรกกับการถ่ายหนังแอ็กชันที่เขาต้องทรีตตัวละครผู้หญิงด้วยความเคารพแทบทุกเฟรมจริง ๆ ตั้งแต่มีเดียมช็อตของ คริสเทน สจ๊วร์ต ในฉากเปิดเรื่องที่ร่ายยาวเรื่องสิทธิสตรีกับตัวละครผู้ร้ายหน้าตี๋ ไปจนถึงช็อตที่ตัวละครต้องแต่งชุดเซ็กซีก็เหมือนกล้องจะต้องเลี่ยงไม่ให้ดูจงใจถ่ายร่องอกของสาว ๆ มากเกินไป เรียกได้ว่างานภาพปลอดภัยแบบผ่านการพลาสเจอไรซ์โดยแบงค์เลยทีเดียว รวมถึงจังหวะหนังที่แบงค์ให้ความสำคัญกับ “การเจ๊าะแจ๊ะของสาว ๆ ” หรือ Girl’s Talk มากเป็นพิเศษ
Charlie’s Angels โดยเฉพาะตัวละครของคริสเทน สจ๊วร์ตที่พูดพล่ามแบบใครขี้รำคาญผู้หญิงพูดมากอาจเกิดความรำคาญจนแทบลุกออกจากโรงได้เลย แต่แบงค์ ชีก็โนสนโนแคร์ ฉากไหนสาว ๆ ชิตแชตกันเธอก็ปล่อยคัตยาว ๆ ไปเลย แต่ในส่วนของฉากแอ็กชันอันนี้ต้องขอตำหนิทีเดียว เพราะฉากบู๊ในหนังไม่มีความไดนามิกเลยสักนิด ยิ่งฉากมาร์เชียล อาร์ต ปะทะกันมือเปล่า แม้จะได้ เอลลา บาลินสกา ที่เคยมีประวัติในการเรียนการต่อสู้ แต่เหมือนฉากบู๊กลับออกแบบมาได้หน่อมแหน๊มมาก บางช็อตนึกว่ายังซ้อมกันอยู่เลย ดังนั้นคอหนังบู๊อาจบ่นได้ว่าฉากแอ็กชันที่พวกเขาตั้งใจมาดูไม่สะใจเท่าที่ควร ยังดีที่มีซีนแอ็กชันอื่น ๆ ที่ไม่ได้ใช้ศิลปะการต่อสู้อย่างพวกช็อครถพุ่งจากถนนลงน้ำ หรือ ฉากในโรงงานท้ายเรื่องที่ยังทำออกมาแบบพอให้อภัยได้ แม้จะดูเล่นง่ายไปบ้างก็ตาม
โดยภาพรวมแล้วก็ต้องบอกว่า อย่าไปสนเสียงวิจารณ์ Charlie’s Angels จากคะแนนมะเขือเน่า หรือเว็บเมืองนอกมากนัก เพราะเอาเข้าจริง ๆ ตัวหนังก็ยังมีอะไรดี ๆ ให้ดู ทั้งการปรับภาพลักษณ์ของสาว ๆ นางฟ้าชาร์ลี ให้ดูทันสมัยเข้ากับโลกยุคปัจจุบัน ความฮา ความสนุกจากการกำกับของ เอลิซาเบธ แบงค์ และที่สำคัญคือเสน่ห์ของนักแสดงนำและเพลงประกอบภาพยนตร์แบบดูเสร็จแทบโหลดอัลบั้มซาวด์แทร็กมาฟังกันไม่ทันเลยแหละ อ้อ..ฉากท้ายเรื่องตรงกลางเอนด์เครดิตมีบรรดาผู้หญิงแกร่งแห่งยุคแบบไม่จำกัดเพศสภาพมาเป็นแขกรับเชิญให้หนังด้วยนะ อย่ารีบลุกล่ะ