4Kings อาชีวะยุค 90s

4Kings เป็นอีกโปรเจกต์หนังที่ใช้เวลาเดินทางมาอย่างยาวนานทีเดียวกว่าที่ พุฒิพงษ์ นาคทอง ผู้กำกับที่จบจากวิทยาลัยเทคนิคราชสิทธารามจะเริ่มไล่ล่าความฝันการเป็นนักสร้างหนัง โดยไต่เต้าจากเด็กกองจนมาเป็นผู้ช่วยผู้กำกับให้กับ ต้อม ยุทธเลิศ สิปปภาค ได้ในที่สุด และเขาก็พกพาเรื่องราวที่ได้ยินได้ฟังมาในสมัยเรียนเขียนออกมาเป็นบทหนังออกเร่หาทุนเป็นเวลาหลายปีจนแทบนึกว่าโครงการจะล่มไปเสียแล้ว แต่ในที่สุดเขาก็ได้มาทำหนังยาวกับค่ายเนรมิตรหนัง ฟิล์ม จำกัด ค่ายหนังไทยหน้าใหม่ที่ดูมีวิสัยทัศน์น่าสนใจทีเดียว
และอาจด้วยการฝ่าฟันผลักดันความฝันนี้มาอย่างยาวนาน เหมือนว่าเรื่องที่เขาอยากเล่ามันได้ถูกเคี่ยวถูกบ่มจนได้ที่ เค้นเนื้อเน้น ๆ ดีกรีแรงออกมาเป็นหนังเรื่องนี้ ถ้าถามว่าความรู้สึกมันคล้ายหนังเรื่องไหน ก็คงเป็น ‘2499 อันธพาลครองเมือง’ ในแบบฉบับที่จริงจังขึ้น และคมคายสมจริงขึ้นตามยุคสมัย

จุดเด่นของหนังคือการได้เด็กช่างตัวจริงที่ไปคลุกวงในเด็กช่างเด็กเทคนิคยุค 90s มาจริง ๆ จนได้วัตถุดิบที่สมจริงมาปรุงการเล่าเรื่อง แต่ละรายละเอียดในหนังเป็นการผสมผสานหลากหลายชีวิตและบทเรียนจากคนมากมายกว่าจะนำมาผูกสร้างเป็นตัวละครแต่ละตัว แม้จะยืนพื้นจากบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงและหลายคนก็ยังคงมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ทว่าผู้กำกับก็ฉลาดพอที่จะทำให้มันเป็นเรื่องแต่งเพื่อไม่ให้กระทบคนจริง ๆ ที่ว่ามา และในแง่ดีคือมันใส่ลูกขยี้ลูกดราม่าชีวิตบัดซบให้ตัวละครได้มากขึ้นด้วย
ต้องชมอย่างแรกเลยคือ การคัดเลือกนักแสดงมาเล่น ถือว่าดีมาก ๆ ไม่เห็นการคัดแบบเข้าท่าเข้าทางยกทีมยกเรื่องขนาดนี้มานานแล้ว ด้วยจำนวนตัวละครที่ค่อนข้างมากในเรื่อง ทีมสร้างจึงเลือกให้ศูนย์กลางเรื่องราวอยู่ที่ตัวละคร บิลลี่ อินทร ของ จ๋าย ไทยทศมิตร หรือ อิชณน์กร พึ่งเกียรติรัศมี ที่เป็นเหมือนผู้นำพาผู้ชมไปรู้จักโลกของเขาที่มีเพื่อนสนิท 2 คนคือ ดา อินทร ที่รับบทโดยเป้ อารักษ์ อมรศุภศิริ ที่เป็นตัวละครที่สร้างขึ้นใหม่และเป็นหัวโจกของกลุ่มเพื่อน และอีกคนคือ รูแปง อินทร ที่รับบทโดย ภูมิ ภูมิ รังษีธนานนท์ ซึ่งเป็นตัวแสบในกลุ่มโรงเรียนอินทรอาชีวะ
จริงแล้วชื่อ 4Kings ก็บอกในตัวอยู่แล้วว่ามี 4 สถาบันที่เป็นคู่แค้นกัน แต่เรื่องราวจะเล่าผ่านสายตาฝั่ง อินทรอาชีวะ เป็นหลัก โดยเจาะไปที่คู่ปรับตัวฉกาจอย่าง เทคโนโลยีประชาชล (ซึ่งเพี้ยนชื่อมาจากของจริงคือ เทคโนโลยีประชาชื่น) ที่มีตัวละครนำอย่าง มด ชล หัวโจกของกลุ่ม รับบทโดย โจ๊ก อัครินทร์ อัครนิธิเมธรัฐ และ โอ๋ ชล ที่เป็นเหมือนมือขวารับบทโดย นัท ณัฏฐ์ กิจจริต
และจะยังมีอีก 2 สถาบันสุดแสบอย่าง กนกอาชีวะ และช่างกลบุรณพนธ์ เป็นตัวสอดแทรกเข้ามาเป็นระยะ โดยเล่าผ่านตัวนำอย่าง บ่าง กนก ที่รับบทโดย แหลม สมพล รุ่งพาณิชย์ หรือ แหลม 25Hours และ เอก บู รับบทโดย ทู สิราษฎร์ อินทรโชติ ซึ่งหนังฉลาดในการค่อย ๆ พาจากกลุ่มอินทรไปรู้จักกลุ่มอื่น ผ่านตัวละครของบิลลี่ที่มีเหตุให้ต้องเข้าไปร่วมหัวจมท้ายกับ โอ๋ ชล และ เอก บู ในช่วงเวลาหนึ่ง
และยังฉลาดในการใส่ตัวละครตัวป่วนที่เข้าไปปั่นสถานการณ์ให้วุ่นวายหนักข้อโดยไม่เลือกหน้าอย่างกลุ่มเด็กเจ้าถิ่นที่เรียกว่าเด็กบ้านที่นำแก๊งโดย ยาท เด็กบ้าน รับบทโดย บิ๊ก อุกฤษ วิลลีย์ บรอด ดอนกาเบรียล หรือ D Gerrard และเมื่อหนังแนะนำตัวละครสำคัญ ๆ ได้ครบ ทั้งยังให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครที่บ้างเป็นศัตรูอยู่ร่วมโลกไม่ได้ บ้างเป็นศัตรูที่ยอมรับให้เกียรติกัน บ้างก็เป็นมิตรที่อยู่คนละขั้วและต้องเลือกอยู่เสมอว่าระหว่างสถาบันกับเพื่อนน้ำหนักสิ่งไหนสูงกว่ากัน ซึ่งทำให้เนื้อหามันมีมิติความซับซ้อนที่ดีพอจะทำให้เกิดสถานการณ์ชวนเอาใจช่วยตัวละครมากมาย
และที่ชอบมากอีกประการคือการสร้างบทสนทนา หนังเรื่องนี้มีบทสนทนาที่ดีมาก ๆ เกิดขึ้นระหว่างความขัดแย้งของตัวละครที่คมคายมาก ๆ ไม่ใช่เพียงระหว่างศัตรู แต่ระหว่างลูกกับพ่อแม่ เพื่อนกับเพื่อน ครูกับศิษย์ คนรักกับคนรัก และแม้ตัวเรื่องมันจะเป็นอะไรที่ดราม่าเชย ๆ แบบที่เราเห็นในหนังสะท้อนสังคมแทบทุกเรื่อง ทว่าบทสนทนาในเรื่องกลับทำให้มันแตกต่างและน่าจดจำอย่างไม่น่าเชื่อ