JOKER: หนังคุณภาพระดับออสการ์ ที่ดิสนีย์ไม่คิดทำ
เรื่องย่อ อาร์เธอร์ เป็นชายคนหนึ่งที่ต้องเผชิญหน้ากับความโหดร้ายทารุณและสังคมที่เต็มไปด้วยการเหยียดหยาม เขาต้องเผชิญกับความอ้างว้างจนเปลี่ยนเขาจากที่เป็นคนอ่อนแอกลายเป็นคนโหดเหี้ยม เขารับจ้างแต่งชุดตัวตลกรายวัน จนกระทั่งคืนหนึ่งที่เขาพยายามจะแสดงตลกเดี่ยว แต่กลับพบว่าตัวเองต่างหากที่เป็นเรื่องตลก เขาไม่เป็นตัวของตัวเองเวลาที่มีผู้คนอยู่รายล้อม ซึ่งเห็นได้จากเสียงหัวเราะที่ควบคุมไม่ได้และดูไม่เหมาะสม ยิ่งเขาพยายามควบคุมเท่าไหร่มันก็ยิ่งแสดงออกมามากขึ้น จนทำให้เขาแสดงความเยาะเย้ยและความรุนแรงออกมา อาร์เธอร์ทุ่มเทเวลาไปกับการดูแลแม่ที่ไม่ค่อยแข็งแรง และไขว่คว้าตามหาคนที่เหมาะจะเป็นพ่อซึ่งเขาไม่เคยมีมาก่อน ตั้งแต่นักธุรกิจมหาเศรษฐี โธมัส เวย์น ไปจนถึงพิธีกรรายการทีวี เมอร์เรย์ แฟรงค์ลิน เขาพบว่าตัวเองอยู่ปลายทางระหว่างโลกแห่งความจริงกับความบ้าคลั่ง การตัดสินใจที่ผิดพลาดเพียงครั้งเดียวกลายเป็นชนวนเหตุที่นำไปสู่เหตุการณ์รุนแรงมากมาย
JOKER จึงเป็นการแสวงทางสู่ดราม่าจิตวิทยาแบบลงลึก ดิ่งจม ผสมเหล้าข้นปนยารักษาโรคประสาท ที่มีกลิ่นดินปืนคลุกละอองเลือดลอยคละคลุ้งในอากาศ ซึ่งเป็นสายทางหนังประกวดรางวัล เวทีที่ไม่น่าพลาดคงเป็นเวทีลูกโลกทองคำ แต่สำหรับออสการ์ก็เรียกว่ามีลุ้นไม่น้อยทีเดียว ซึ่งจะว่าก็น่าเสียดายแทนแฟนหนังมาร์เวลที่ไม่สนใจในการทำหนังแนวคว้ารางวัลสาขาหนังยอดเยี่ยม ยิ่งความอ่อนไหวของดิสนีย์ที่ไม่ชอบเล่นประเด็นสุ่มเสี่ยง ขนาดเคยไล่ผู้กำกับอย่าง เจมส์ กันน์ (James Gunn) ออกจากค่ายมาแล้วเพราะผลการกระทำในอดีตที่แทบไม่ควรเอามาเป็นประเด็นอีก
เพราะแนวทางการสร้างของมาร์เวลก็เน้นรายได้ความนิยมมากกว่ารางวัลอยู่แล้ว จึงไม่มีวันคิดจะทำหนังสไตล์ Joker ได้สำเร็จแน่นอน
ดีไม่ดีทำแล้วจะเป๋จนเพี้ยนไปหมดด้วย นี่จึงต้องยอมรับในความกล้าของผู้บริหารของค่ายวอร์นเนอร์มาก ๆ ที่กล้าเสี่ยงเอาตัวละครดังมาทดลองกับแนวทางหนักหน่วงเช่นนี้
หนังสามารถคว้ารางวัลหนังยอดเยี่ยม สิงโตทองคำ (Golden Lion) จากเทศกาลหนังเมืองเวนิสปีล่าสุด พร้อมการยืนปรบมือยาวนานของผู้ชมหลายนาที ซึ่งคงเป็นเพียงระฆังสัญญาณแรกในการลุยเวทีรางวัลใหญ่ในปีนี้ของหนังที่อาจตามรอยรุ่นพี่อย่าง The Shape of Water (2017) และ Roma (2018) ซึ่งล้วนเคยคว้ารางวัลสิงโตทองคำก่อนไปชนะรางวัลใหญ่ในเวทีออสการ์สำเร็จมาแล้วทั้งคู่ก็เป็นได้ ต้องยอมรับว่าก่อนดูหนังมีความแคลงใจ และคิดไปล่วงหน้าว่าอาจไม่ชอบตัวหนังไปเลยก็ได้ แต่พอเข้าไปดูแล้วนั้นก็ต้องพูดโดยรวมว่า หนังประสบความสำเร็จอย่างมากในการพาเราจมดิ่งลงไปในตัวละครนำอย่าง อาร์เธอร์ เฟล็ก อย่างถอนตัวไม่ขึ้น เราจึงทั้งเข้าใจ ต่อต้าน เห็นใจ ขัดแย้ง อยากโอบกอดเขา และดุด่าเขาไปพร้อมกัน และเหนืออื่นใดมันคือประสบการณ์มหัศจรรย์ที่เราจะได้เห็น วาคีน ฟินิกส์ (Joaquin Phoenix) ลอกคราบทีละชั้นจนกลายร่างเป็นสัตว์ประหลาดนาม โจ๊กเกอร์ ในที่สุด
นี่คือผลงานการกำกับของ ทอดด์ ฟิลลิปส์ (Todd Phillips) ผู้กำกับชื่อดังที่สร้างชื่อตัวเองมาจากหนังแนวคอมเมดี้ไตรภาคอย่าง The Hangover นี่จึงเป็นการผันตัวมาทำหนังดราม่าหนักหน่วงจริงจัง โดยเฉพาะเป็นการนำคาแรกเตอร์จากคอมิกดังมาดัดแปลงครั้งแรกของเขาด้วย สิ่งที่ต้องชื่นชมผู้กำกับอย่างมากคือ วิสัยทัศน์ด้านการนำเสนอ ทั้งฉาก ภาพ วิช่วล ที่พยายามให้นึกถึงนิวยอร์กในยุค 1970 อันเป็นปีแห่งความสับสนวุ่นวาย เส็งเคร็ง กักขฬะ ผู้คนแสวงหาคุณค่าในความดีงาม ในตัวเอง ในตัวผู้อื่น เป็นยุคแห่งการหลงทิศหลงทาง ทั้งสงครามเวียดนาม คดีวอร์เตอร์เกต สงครามเย็น ลัทธิคลั่งศาสนา การนำยุคที่ถูกต้องมาสู่การสร้างฉากหลังให้ตัวละครที่ถูกตัว คือความสำเร็จที่งดงามที่สุด ยังไม่รวมว่างานด้านภาพและวิช่วลต่าง ๆ ทำออกมาได้อย่างงดงามในความล่มสลาย งดงามในความรุนแรง และงดงามดั่งหัวใจเลวทรามใสซื่อของตัวละครนำ
